GLOWY นมแม่ EP.1 มาเข้าใจกลไกการสร้างและการหลั่งน้ำนมกันก่อน
  • 28 กรกฎาคม 2017 at 14:34
  • 19832
  • 0

GLOWY นมแม่ EP.1 มาเข้าใจกลไกการสร้างและการหลั่งน้ำนมกันก่อน

ร่ายกายคุณแม่จะเริ่มเตรียมพร้อมสร้างน้ำนมตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง สังเกตได้จากเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น สีบริเวณลานนมที่คล้ำขึ้น และน้ำนมจะเริ่มสร้างตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง แต่จะเริ่มทำงานอย่างจริงจัง หลังจากคลอดไปแล้ว 48-96 ชั่วโมง ทันทีหลังจากคลอดลูก ฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากรก คือ เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน จะลดลงอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับระดับของฮอร์โมนโปรแลคติน หรือ ฮอร์โมนแห่งความเป็นแม่ ก็ถูกสร้างออกมาจากสมองเพิ่มสูงขึ้น เพื่อที่จะกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดออกมา โดยน้ำนมที่ถูกสร้างขึ้นนั้นจะถูกเก็บอยู่ในถุงเก็บน้ำนมภายในเต้านม

การที่ลูกดูดนมจากอกแม่ มีกลไกที่สำคัญมาก คือ กลไกการหลั่งน้ำนม หรือ Let down เป็นการที่น้ำนมที่ถูกสร้างและเก็บอยู่ในถุงเก็บน้ำนมนั้นถูกปล่อยออกมาทางท่อน้ำนม กลไกการหลั่งน้ำนมเกิดขึ้นได้โดยเมื่อลูกเริ่มดูดนม  จะเป็นการกระตุ้นปลายประสาทบริเวณหัวนม ให้ส่งสัญญาณไปที่สมองให้หลั่งฮอร์โมนอ็อกซีโตซิน รวมทั้งโปรแลคติน ออกมาในกระแสเลือด ฮอร์โมนโปรแลคตินจะไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนม ส่วนฮอร์โมนอ็อกซีโตซินจะทำให้ถุงเก็บน้ำนมบีบตัวทำให้น้ำนมออกมายังท่อน้ำนม และออกสู่ภายนอก

สรุปเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ได้ดังนี้

  1. ลูกดูดนม ทำให้กระตุ้นเส้นประสาทบริเวณหัวนม
  2. ทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน และ อ็อกซีโตซินออกมา
  3. ฮอร์โมนโปรแลคติน ไปกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนม
  4. ฮอร์โมนอ็อกซีโตซิน ทำให้ถุงเก็บน้ำนมบีบตัว ท่อน้ำนมขยายตัว ทำให้น้ำนมไหลออกมา นอกจากนี้ยังไปมีผลทำให้มดลูกบีบตัว มดลูกเข้าอู่เร็ว

ด้วยหลักการนี้เองเมื่อไม่มีลูกดูด แล้วเราต้องการปั๊มนม เราต้องกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำนมก่อน หรือที่รู้จักกันว่า “การทำจี๊ด” นอกจากการที่ลูกดูดนมแล้ว เราสามารถกระตุ้นการหลั่งน้ำนมได้โดย

  1.  นวดเบา ๆ บริเวณเต้านม และหัวนม โดยใช้นิ้วมือ โดยใช้ฝ่ามือนวดเต้านมโดยนวดเข้าหาหัวนม และใช้นิ้วหมุนหัวนมเบาๆ
  2.   ใช้เครื่องปั๊มนมนวดกระตุ้น โดยใช้จังหวะการดูดที่เบาๆ และเร็ว ๆ จะเป็นการกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณหัวนมซึ่งเลียนแบบการดูดนมของทารกในช่วงแรก
  3.   พยายามผ่อนคลาย หายใจลึก ๆ ช้าๆ อาจจะจิบน้ำอุ่น ฟังเพลงเบาๆ การอาบน้ำอุ่น หรือประคบด้วยผ้าอุ่น ๆ บริเวณหน้าอกซักครู่ก่อนที่จะปั๊มนม
  4.   คิดถึงหน้าลูกเข้าไว้ เอารูปลูกมาดู จะทำให้น้ำนมหลั่งได้ง่ายขึ้น
  5.   ถ้าเราเครียดมาก ๆ เหนื่อยมาก ๆ ความไม่สบายใจ หรือความเจ็บปวด อาจมีผลทำให้ไม่เกิดการหลั่งน้ำนม

จะเห็นว่าถึงแม้ว่าจะมีน้ำนมอยู่เต็มเต้า แต่ถ้าไม่ จี๊ด” ก็ปั๊มไม่ค่อยออก ไม่เหมือนกับตอนที่ลูกดูดเอง แค่มองหน้าลูกสัญชาตญาณแห่งความเป็นแม่แล่นเข้าสมอง นมก็พุ่งออกมาแทบจะทันที

นอกจากนี้ความรู้เรื่องของการหลั่งน้ำนม มีประโยชน์อย่างยิ่งกับคุณแม่ที่ปั๊มนม เพราะเมื่อเราเริ่มปั๊มนม การทำจี๊ดครั้งแรกจะทำได้ไม่ยาก แต่พอปั๊มไปซักพัก ประมาณ 10 นาที แล้วน้ำนมเริ่มจะไม่ออก ให้ทำจี๊ดอีกครั้ง อาจจะโดยเปลี่ยนโหมดเครื่องปั๊มนมเป็นโหมดกระตุ้น หรือทำตามคำแนะนำในการกระตุ้นการหลั่งน้ำนมอีกครั้ง จะทำให้ปั๊มแล้วนมออกดีขึ้น ปั๊มได้เกลี้ยงเต้ามากขึ้น ใน 1 รอบของการปั๊มนมอาจทำจี๊ดได้ 2-3 ครั้ง จนกว่านมจะเกลี้ยงเต้า

รู้ได้ยังไงว่า “จี๊ด” แล้ว?

  1.   ตามชื่อเลยค่ะ จะรู้สึก จี๊ด ๆ เสียว ๆ ที่หัวนม
  2.   รู้สึกว่าเหมือนอยู่ ๆ ก็คัดหน้าอกขึ้นมาในทันที
  3.   มีน้ำนมหยดออกมาจากเต้านม
  4.   ถ้าให้ลูกดูดเต้าอยู่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของการดูด จากที่ดูดจุ๊บ ๆ เบา ๆ เร็ว ๆ เป็นแบบดูดแรงขึ้น แต่ช้าลง มีจังหวะหยุดกลืนนม

 

GLOWY นมแม่ EP.1 มาเข้าใจกลไกการสร้างและการหลั่งน้ำนมกันก่อน

GLOWY นมแม่ EP.2 เข้าใจกลไกการสร้างน้ำนม ไม่มีคำว่านมไม่พอ

 

GLOWY นมแม่ EP.3  Q&A เครื่องปั๊มนม

 

GLOWY นมแม่ EP.4 รีวิวการใช้งาน GLOWY ELECTRIC BREAST PUMP